วันอังคารที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

บทความการเรียนรู้

บทความการเรียนรู้
ในปัจจุบันการจัดการเรียนรู้จะผ่านสื่อคอมพิวเตอร์และสื่อสารโทรคมนาคม หรือที่เรียกว่า ไอซีที รวมทั้งการนำเสนอ ทฤษฎีการเรียนรู้ใหม่ๆ ที่มีความสำคัญต่อการเรียนรู้ในอนาคต รูปแบบการเรียนรู้ที่สำคัญในอนาคต มีรูปแบบการเรียนรู้ 3 ลักษณะ ได้แก่
1) การเรียนรู้ในลักษณะที่มีครูผู้สอนเป็นผู้ศูนย์กลาง กระบวนการเรียนรู้เกิดจากการถ่ายทอดจากผู้สอนสู่ผู้เรียน
2) การเรียนรู้ในลักษณะที่เน้นความร่วมมือกัน กระบวนการเรียนรู้เกิดจากการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันของทั้งผู้เรียนกับผู้เรียน ผู้เรียนกับผู้สอน หรือชุมชนของการเรียนรู้
3) การเรียนรู้ในลักษณะที่คล้ายคลึงกันกับลักษณะที่สอง แต่มีการจัดสิ่งแวดล้อมทางการเรียนรู้ต่างๆ เพิ่มเติม เช่น ทรัพยากรการเรียนรู้ แหล่งสื่อต่างๆ ทั้งในรูปดิจิตัลและไม่ใช่ดิจิตัล รวมถึงการออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ในลักษณะที่สร้างฐานความรู้ให้แก่ผู้เรียน
ทฤษฎีการเรียนรู้ที่สำคัญของอนาคต
1) การเรียนรู้แบบร่วมมือที่มีผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง
ทฤษฎี การเรียนรู้แบบร่วมมือกัน เกิดจากแนวคิดที่ว่า การเรียนรู้ไม่จำกัดอยู่เฉพาะการเรียนจากครูผู้สอนเท่านั้น หากเกิดจาก การที่ผู้เรียนร่วมมือกับผู้สอนในการเรียนรู้ด้วยตนเอง กับเพื่อน หรือกับชุมชนการเรียนรู้ของตน ภายใต้เป้าหมายการเรียนรู้ร่วมกัน
2) การเรียนรู้โดยใช้สมองเป็นฐาน
ทฤษฎีการเรียนรู้โดยใช้สมองเป็นฐาน  เป็นทฤษฎีซึ่งเกิดจากแนวคิดที่ว่า คนเกิดมาพร้อมกับจำนวนเซลสมองที่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต การขยายตัวของสมองไม่ได้เกิดจากการเพิ่มจำนวนเซลของสมอง แต่มาจากใยประสาท สมองของคนเรานั้น มีความยืดหยุ่น หากเราใช้สมองในการแก้ไขปัญหา สมองก็จะมีการสร้างใยประสาทเพิ่มขึ้น แต่ถ้าไม่ได้ใช้ใยประสาทก็จะถูกทำลายลง
ในการประยุกต์ทฤษฎีนี้สู่การปฏิบัตินั้น คงต้องทำความเข้าใจถึงความสัมพันธ์ระหว่าง สมองกับการเรียนรู้  กล่าวคือ สมองมีการเชื่อมโยงกับอารมณ์ของคน ในขณะที่อารมณ์ของคนก็จะส่งผลต่อการเรียนรู้ โดยอารมณ์จะเป็นตัวช่วยเราในการเรียกความทรงจำเดิมที่เก็บไว้ในสมองออกมาใช้ สำหรับภาวะของสมองที่เหมาะสมที่สุดต่อการเรียนรู้ ได้แก่ ภาวะของสมองที่มี ความตื่นตัวแบบผ่อนคลาย (Relaxed alertness) ดังนั้น ครูผู้สอนจึงมีหน้าที่ในการสร้างสิ่งแวดล้อมในการเรียนรู้แก่ผู้เรียนในลักษณะที่ทันสมัย เพลิดเพลิน แต่ท้าท้ายและชวนให้หาคำตอบ เพื่อกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดการตื่นตัวแบบผ่อนคลาย มากกว่าความรู้สึกเครียด กังวลและกดดัน เพราะสิ่งแวดล้อมดังกล่าว อาจทำให้เกิดผลลัพธ์การเรียนรู้ทางลบแก่ผู้เรียนได้  รวมทั้ง แนวคิดที่สำคัญ จากทฤษฎีการเรียนรู้โดยใช้สมองเป็นฐาน ได้แก่ การที่การเรียนรู้ของคนจะประสบความสำเร็จที่สุดเมื่อกิจกรรมการเรียนรู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับประสบการณ์ของผู้เรียนที่เป็นรูปธรรมและสามารถจับต้องได้ เพราะคนเราจะจำสิ่งต่าง ๆ ได้แม่นยำที่สุดเมื่อข้อเท็จจริงต่าง ๆ และทักษะฝังอยู่ในจากกิจกรรมในชีวิตจริงตามธรรมชาติ เพราะเป็นการเรียนรู้โดยอาศัยประสบการณ์ตรง
รูปแบบและทฤษฏีการเรียนรู้ในยุคสมัยหน้า ซึ่งมุ่งเน้นการเรียนรู้แบบร่วมมือกันของผู้เรียน ภายใต้การที่ผู้สอนวางฐานความรู้ (knowledge scaffolding) ให้กับผู้เรียนอย่างเหมาะสม  ผ่านการใช้ไอซีทีเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้ รวมทั้ง มุ่งเน้น การออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ของผู้สอน ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับประสบการณ์ของผู้เรียนที่เป็นรูปธรรมและสามารถถ่ายโอนการเรียนรู้จากชั้นเรียนไปสู่สถานการณ์จริงได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น